การทำงานกับโมเดล 3 มิตินั้น จะมีมุมมองที่รอบด้านแตกต่างจากโมเดล 2 มิติ ดังนั้น เพื่อความเหมาะสมกับการดูโมเดลแต่ละมุม โปรแกรม Google SketchUp มีเครื่องมือมุมกล้อง ซึ่งจำลองมุมมองเหมือนอยู่ในสภาพแวดล้อมของชิ้นงานจริง
ในพื้นที่ 3 มิติ จะมีมุมมองมาตรฐานในการมองชิ้นงานอยู่ 7 มุม ได้แก่
Top : ด้านบน
Bottom : ด้านล่าง (ข้างใต้)
Front : ด้านหน้า
Back : ด้านหลัง
Left : ด้านซ้าย
Right : ด้านขวา
ISO : Isometric หรือมุมมองแนวเอียงที่ทำให้เห็นรูปทรงโดยรวมของชิ้นงานได้
ในการมองชิ้นงานมุมต่าง ๆ นั้นเราสามารถใช้เครื่องมือหมุนมุมมอง เพื่อมองรอบชิ้นงานได้อิสระ แต่มุมมองมาตรฐานมีประโยชน์สำหรับการตรวจสอบชิ้นงาน ในแต่ละด้านอย่างเที่ยงตรง และใช้ในการนำเสนองาน เช่น การออกแบบสินค้า หรือสถานที่ต่าง ๆ การเลือกมุมมองมาตรฐาน ทำได้ดังนี้
1. เลือกเมนู Camera จากแถบเมนูหลัก และเลือกมุมมองจากเมนูย่อย Standard Views
2. พื้นที่ทำงานจะเปลี่ยนเป็นมุมมองที่เลือกไว้ตามภาพตัวอย่าง
เครื่องมือ Orbit มีไว้สำหรับการหมุนมุมมองรอบชิ้นงานในลักษณะการโคจรรอบ ๆ นับว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ตลอดเวลาในการสร้างโมเดล 3 มิติ
การเรียกใช้เครื่องมือ Orbit นั้นทำได้จากการเรียกใช้เมนู และการใช้เมาส์ เพื่อความรวดเร็ว ดังนี้
1. คลิกเลือกเครื่องมือ Orbit บน Toolbar
2. ใช้เครื่องมือ Orbit เพื่อหมุนมุมมองชิ้นงานได้รอบ 360 องศา สิ่งที่หมุนคือมุมมอง ของเราแต่ไม่ใช่โมเดลที่ถูกหมุน
เครื่องมือ Pan ใช้สำหรับการเลื่อนมุมมองแนวราบโดยไม่หมุนมุมมอง จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของ Pan และ Orbit นั้นเป็นการจัดการมุมมองชิ้นงานที่ต่างแนวกัน แต่ต้องใช้คู่กันเสมออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น 2 เครื่องมือนี้จึงเป็นเครื่องมือที่เราเรียกใช้ได้ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องคลิกเลือกเครื่องมือจาก Toolbar ก่อนทุกครั้ง
เรามาดูวิธีใช้งาน Pan Tool ทั้งจากการคลิกที่ Toolbar และการใช้งานด้วยเมาส์
1. จากตัวอย่างชิ้นงานอยู่เรียงกันในแนวหน้ากระดาน
2. คลิกเลือกเครื่องมือ Pan บน Toolbar
3. ใช้เครื่องมือ Pan คลิกและเลื่อนมุมมองในแนวราบ เพื่อทำงานกับชิ้นงานแต่ละชิ้นได้ การเลื่อนนี้เป็นการเลื่อนมุมมอง แต่โมเดลไม่มีการเคลื่อนย้ายแต่อย่างใด
เครื่องมือ Zoom นับว่าเป็นเครื่องมือจัดการมุมมองที่มีหน้าที่สำคัญ คือการย่อและขยายมุมมอง เพื่อทำงานกับชิ้นงานในระดับภาพรวมหรือในรายละเอียดย่อย ๆ ได้ เครื่องมือ Zoom ไม่เพียงแต่ใช้ในการย่อขยายมุมมองเท่านั้น แต่ยังใช้เปลี่ยนมุมกล้องได้อีกด้วย
การเรียกใช้เครื่องมือ Zoom จาก Toolbar มีดังนี้
1. เตรียมชิ้นงานบนพื้นที่ทำงาน
2. คลิกเลือก Zoom จาก Toolbar
3. คลิกเลื่อนไปทางด้านบนเป็นการขยายมุมมองชิ้นงานจะดูใกล้และใหญ่ขึ้น
4. คลิกและเลื่อนไปทางด้านล่างเป็นการย่อมุมมอง ชิ้นงานจะดูไกลออกไปและเล็กลง
5. หากดับเบิลคลิกเครื่องมือ Zoom ไปที่ชิ้นงานใด ชิ้นงานนั้นจะถูกจัดให้อยู่ตรงกลาง
Zoom Window เป็นเครื่องมือที่อยู่ใกล้เคียงเครื่องมือ Zoom และใช้งานใกล้เคียงกันด้วย เพียงแต่เครื่องมือ Zoom Window จะให้ลากพื้นที่ที่ต้องการจะขยายมุมมองโดยเฉพาะ วิธีใช้และตัวอย่างผลลัพธ์ ดังนี้
1.คลิกเครื่องมือ Zoom Window บน Toolbar
2. ลากพื้นที่ต้องการขยายมุมมอง
3. ผลลัพธ์ คือมุมมองจะถูกขยายในบริเวณที่ลากพื้นที่จนเต็มหน้าจอการทำงาน
Zoom Extents มีหน้าที่ขยายมุมมอง เพื่อให้เห็นชิ้นงานทั้งหมดบนพื้นที่ทำงาน โดยมีมุมมองที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะครอบคลุมชิ้นงานทั้งหมด
1. คลิกเครื่องมือ Zoom Extents บน Toolbar
2. ชิ้นงานทั้งหมดจะถูกขยายจนเต็มพื้นที่การทำงาน